วันจันทร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2555

อาหาร - เครื่องเทศไทย คุณสมบัติและประโยชน์ที่มี


              

อาหารไทย ถือว่าเป็นอาหารที่มีพืชสมุนไพรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญ  นอกจากใช้ในการแต่งกลิ่น รส และเพิ่มสีสันของอาหารแล้ว ยังใช้ดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ นอกจากนั้นยังมีสรรพคุณในทางยาที่ทำให้ถือว่าอาหารไทยนั้นเป็นอาหารที่เหมาะสมในการส่งเสริมสุขภาพ เราจะพาไปให้ความรู้เกี่ยวกับส่วนประกอบของเครื่องเทศที่นิยมใช้ในอาหารไทยกันดังนี้ค่ะ

1. กระชาย เหง้ากระชายใช้เป็นส่วนผสมในเครื่องแกงบางอย่าง ส่วนใหญ่เป็นแกงที่ใช้ปลา เช่นน้ำยาปลา แกงส้ม เนื่องจากกลิ่นรสที่เผ็ดร้อนและขมของกระชายจะช่วยดับกลิ่นคาวปลาได้ดี จึงนิยมใส่ในอาหารที่มีปลาเป็นส่วนประกอบหลัก เช่นผัดเผ็ดปลาดุก แกงเขียวหวานลูกชิ้นปลากราย เป็นต้น
ประโยชน์
- ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- แก้ใช้ ลดการอักเสบ
- ต้านเชื้อรา แบคทีเรีย
- สาร Cardamonin ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกมะเร็ง

2. กระเทียม กระเทียมเป็นส่วนประกอบสำคัญในอาหารไทย ผัดผักทุกจานต้องทุบกระเทียมลงไปเจียวให้หอมก่อนใส่เนื้อสัตว์และผัก กระเทียมเป็นส่วนประกอบที่ขาดไม่ได้ในน้ำพริกแกง น้ำพริกทุกชนิด อาหารจานยำก็ต้องใช้กระเทียมเป็นส่วนประกอบสำคัญเช่นกัน หรือใช้กระเทียมเจียวโรยหน้าเพื่อแต่งกลิ่นอาหาร และยังสามารถนำหัวกระเทียมมาดอง ต้นกระเทียมก็สามารถนำมาผัดและต้มได้ 
ประโยชน์
- ช่วยขับลม แก้จุกเสียด ท้องอืด ท้องเฟ้อ ต้านการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- ลดระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือด ลดความดันโลหิต ลดสารไฟบริโนเจน
- อาจช่วยป้องกันการเกิดโรคหลอดเลือดอุดตันและกล้ามเนื้อหัวใจตาย
- ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา ยีสต์ และไวรัส

3. กระเพรา ใช้ปรุงอาหารประเภทแกงป่า แกงแค ผัดเผ็ดเนื้อชนิดต่างๆ ผัดกระเพรา ช่วยดับกลิ่นคาวเนื้อ และปลา โดยใส่ใบสดลงในอาหารหลังจากสุกพร้อมที่ยกลงจากเตา
ประโยชน์
- ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน
- ลดระดับน้ำตาลในเลือด
- ต้านความเครียด และการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร   

4. ข่า ส่วนที่นำมาใช้เป็นอาหารคือ ดอกและเหง้าทั้งแก่และอ่อน โดยเหง้าอ่อนและดอกข่านำมาใช้เป็นผัก เหง้าแก่ซึ่งมีรสชาติเผ็ดร้อนใช้เป็นเครื่องเทศปรุงรสและแต่งกลิ่นสำหรับน้ำพริก แกงหลายชนิด ผัดเผ็ด แกงไตปลา ในลาบต่างๆ ต้มยำ และต้มอื่นๆ เช่นต้มเครื่องในวัว ใช้เป็นส่วนผสมของลูกแป้งที่ใช้ทำข้าวหมาก เหง้าอ่อนนำมาใช้ปรุงอาหาร เช่น ต้มข่าไก่
ประโยชน์
- ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ยับยั้งการเจริญเติบโตของเนื้องอกมะเร็ง ต้านเชื้อรา แบคทีเรีย ยีสต์       

5. ขิง คนไทยใช้ขิงดับกลิ่นคาวปลาในอาหารหลายชนิด เช่น ต้มส้ม ปลานึ่งมะนาวใส่ขิง ใช้ผัดกับเนื้อสัตว์ เป็นส่วนประกอบของแกงฮังเล เป็นส่วนผสมในเมี่ยงต่างๆ เช่น เมี่ยงคำ เมี่ยงปลาทู เมี่ยงส้ม ใส่พวกเครื่องจิ้ม หอยดอง ไตปลา แสร้งว่า ขิงซอยผัดกับเนื้อสัตว์ต่างๆ เจี๋ยนปลา ยำต่างๆ เช่น ยำปลาทู ยำขิง ยำปลากระป๋อง ยำหองแครง หรือนำมาดองกินกับน้ำพริกหรือข้าวต้ม ใช้เป็นผักสด/เครื่องเคียง กับเครื่องจิ้ม หลนทุกชนิด นำมาต้มเป็นเครื่องดื่มหรือใส่ในของหวาน เช่น ถั่วเขียว หรือมันต้มน้ำตาล
ประโยชน์
- แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ คลื่นไส้ อาเจียน ไอ ขับเสมหะ
- ลดไขมันและโคเลสเตอรอลในเลือดของหนู
- ลดการอักเสบและลดการจับตัวของเกร็ดเลือด
- ต้านเชื้อแบคทีเรีย รา ยีสต์ ไวรัส 

6. ตะไคร้ ตะไคร้มีรสเผ็ดร้อนและขม ใช้เป็นเครื่องแต่งกลิ่นรสอาหารไทย เป็นส่วนประกอบสำคัญของเครื่องแกงเผ็ดทุกชนิด เช่น น้ำพริกแกงเผ็ด แกงส้ม เป็นส่วนประกอบสำคัญของน้ำยา ข้าวยำปักษ์ใต้ น้ำพริกอ่อง แกงไตปลา น้ำพริกตะไคร้ เป็นต้น ใช้สดในอาหารจานพล่ายำ และเป็นส่วนประกอบสำคัญในต้มยำ 
ประโยชน์
- ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ
- ต้านเชื้อแบคทีเรีย รา ยีสต์
- ขับปัสสาวะ

7. พริก พริกที่นิยมนำมาใช้ในอาหารไทย ได้แก่ พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้าแดงและเขียว พริกเหลือง พริกหนุ่ม และพริกหยวก ซึ่งพริกแต่ละชนิดมีความเผ็ดมากน้อยแตกต่างกัน สามารถใช้ได้ทั้งในรูปพริกสด พริกแห้ง พริกป่น หรือนำมาดองกับน้ำส้ม พริกเป็นส่วนประกอบหลักของน้ำพริกแกง น้ำพริกต่างๆ อาหารจานยำ พล่า ต้มยำ ใช้ปรุงรสอาหารให้มีรสเผ็ดตามต้องการในอาหารไทยทุกประเภท พริกบางชนิดนำมาใช้ในการแต่งกลิ่นอาหารและดับกลิ่นคาวของอาหาร เช่นการใช้พริกขี้หนูแห้งคั่วในลาบเพื่อดับกลิ่นคาวของเนื้อสัตว์ หรือใช้ปรุงแต่งให้อาหารมีสีสันสวยงามมากขึ้น 
ประโยชน์
- ช่วยกระตุ้นการทำงานของกระเพาะอาหารทำให้เจริญอาหาร ถ้ากินในปริมาณไม่มากช่วยลดการเกิดแผลในกระเพาะอาหาร
- สารแคปไซซินช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งและอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด
- ช่วยขับลม ขับเสมหะ
- แก้อาเจียน แก้ปวดเมื่อย    

8. พริกไทย พริกไทยเป็นส่วนผสมในเครื่องแกงทุกชนิด ใส่แกงจืดโดยตำร่วมกับรากผักชีและกระเทียมโรยอาหารประเภทผัดผักให้หอม คนไทยใช้พริกไทยสดในการประกอบอาหาร เช่น แกงเผ็ด แกงป่า ผัดเผ็ด 
ประโยชน์
- ใช้ขับลม ขับเสมหะ ขับปัสสาวะ
- ช่วยระงับอาการปวดท้อง จุกเสียด
- ช่วยกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งน้ำย่อยได้มากขึ้น 

9. มะกรูด คนไทยใช้ผิวมะกรูดเป็นเครื่องเทศผสมในเครื่องแกงหลายชนิดของแกงเผ็ดและผัดเผ็ด ใส่ในน้ำพริก (ขนมจีน) น้ำมะกรูดมีรสเปรี้ยว ใช้ปรุงอาหาร ดับกลิ่นคาว นิยมใส่น้ำมะกรูดในปลาร้าหลน แกงส้ม แกงเทโพ ใบมะกรูดฉีกหรือหั่นฝอยเพื่อกลบคาวหรือแต่งกลิ่นในแกงเผ็ด ผัดเผ็ด ฉู่ฉี่ปลา แกงต้มส้ม ต้มยำ ห่อหมก ตำขนุน ข้าวยำปักษ์ใต้ ใส่ในเครื่องแกงทำทอดมันปลากราย ใช้ปรุงอาหารหลายอย่าง เช่น ต้มยำ แกงเผ็ด ทอดมัน ใช้โรยหน้าอาหารที่ปรุงเสร็จแล้วเพื่อแต่งกลิ่น เช่น โรยหน้าข้าวเหนียวหน้ากุ้ง 
ประโยชน์
- ช่วยขับลม แก้ไอ ขับเสมหะ

10. มะนาว น้ำมะนาวใช้เป็นเครื่องปรุงรสอาหารให้เปรี้ยว ใส่ในต้มยำ ส้มตำ พล่า ยำ น้ำพริกชนิดต่างๆ เช่น น้ำพริกกะปิ ปลาหมึกนึ่งมะนาว หรือใช้ผสมน้ำเป็นเครื่องดื่ม
ประโยชน์

- แก้ไอ ขับเสมหะ
- รักษาท้องอืด ท้องเฟ้อ
- แก้โรคลักปิด ลักเปิด

11. โหระพา ใช้เป็นผักสดสำหรับเครื่องเคียงกับลาบ น้ำตก เครื่องจิ้มต่างๆ ใช้แต่งกลิ่นอาหาร อาหารไทยที่นิยมใส่ใบโหระพา ได้แก่ แกงเผ็ดต่างๆ ผัดเผ็ด เช่น ผัดเผ็ดเนื้อ ผัดหอยลาย และ ผัดมะเขือยาว
ประโยชน์

- ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ

12. หอมแดง หอมแดงช่วยดับกลิ่นคาวและเพิ่มรสชาติ เป็นส่วนประกอบสำคัญในเครื่องแกงทุกชนิด ใช้ในอาหารประเภทแกงเผ็ด ต้มโคล้ง แกงเลียง ต้มยำ อาหารประเภทหลน อาหารประเภทยำ ลาบ น้ำพริกต่างๆ อาจาด เมี่ยง เครื่องเคียงของข้าวซอย ใช้ในขนมหวาน เช่นขนมหม้อแกง ใช้หอมแดงซอย เจียวให้เหลืองโรยหน้า ต้นและใบใช้เป็นผักสดสำหรับเป็นเครื่องเคียงพวกหลนต่างๆ
ประโยชน์

- ขับลม แก้ปวดท้อง 
- แก้หวัด คัดจมูก

13. หอมใหญ่ ใช้ใส่ในแกงมัสมั่น ยำต่างๆ และน้ำซุป
ประโยชน์

- ขับลม แก้ท้องอืด ท้องเฟ้อ              
       
Credit by : http://www.thaifoodtoworld.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น